ฟันคุด คือฟันแท้ที่ไม่สามารถขึ้นมาได้ตามปกติ และมักฝังตัวอยู่ที่ขากรรไกรใต้เหงือกบริเวณกรามซี่ที่สามซึ่งเป็นฟันซี่ที่อยู่ด้านในสุด  หากฟันคุดนั้นก่อให้เกิดปัญหา หรือการเอกซเรย์แสดงให้เห็นว่าฟันคุดส่งผลกระทบต่อฟันซี่อื่น ๆ อย่างชัดเจน หรือหากมีสาเหตุอื่น ๆ ที่เกิดจากฟันคุดก็จำเป็นต้องผ่าตัดออก โดยสาเหตุที่อาจทำให้ทันตแพทย์ตัดสินใจผ่าฟันคุดออกมีดังนี้

  • สร้างความเสียหายให้กับฟันซี่อื่น ๆ ฟันคุดที่เกิดขึ้นสามารถส่งผลกระทบต่อฟันโดยรอบได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดภายในช่องปาก หรือปัญหาในการกัดได้
  • เหงือกอักเสบ เมื่อเนื้อเยื่อบริเวณรอบ ๆ ฟันคุดเกิดการอักเสบ จะทำให้เกิดอาการบวมและยากต่อการทำความสะอาด
  • ฟันผุ อาการเหงือกบวมจากฟันคุดจะทำให้เกิดช่องว่างระหว่างฟัน และทำให้เชื้อแบคทีเรียเข้าไปเจริญเติบโต และก่อให้เกิดฟันผุตามมา
  • การจัดฟัน ฟันคุดสามารถส่งผลต่อการจัดฟัน จนทำให้ผลลัพธ์จากการจัดฟัน ครอบฟัน หรือการใช้ฟันปลอมไม่เป็นไปตามที่ต้องการ

ฟันฝัง คือ ฟันที่ไม่สามารถขึ้นได้เองตามธรรมชาติ ฝังอยู่ในบริเวณกระดูกขากรรไกร ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบทำให้รากฟันซี่ข้างเคียงละลายตัวได้

     ฟันฝังสามารถพบได้ทั้งฟันหน้า ฟันเขี้ยว และฟันซี่อื่น โดยสามารถตรวจพบได้จากภาพถ่ายรังสี โดยการรักษาฟันฝังนั้นสามารถทำการรักษาโดยขึ้นอยู่กับการพิจารณาของทันตแพทย์ว่าฟันซี่นั้นควรถอนออกหรือดึงขึ้นมาในตำแหน่งที่ถูกต้อง

ทำไมต้องผ่าฟันคุด

  1. ทันตแพทย์พิจารณาแล้ว ว่าฟันคุดซี่นั้น ไม่สามารถขึ้นมาได้อย่างเต็มซี่ หรือไม่สามารถขึ้นมาแบบตั้งตรงได้
  2. เพื่อป้องกันฟันข้างเคียงผุ ซอกฟันระหว่างฟันคุดกับฟันกรามซี่ที่สองที่อยู่ชิดกันนั้นทำความสะอาดได้ยาก เศษอาหารจะติดค้างอยู่ทำให้เกิดฟันผุได้ทั้งสองซี่
  3. เพื่อป้องกันการเกิดถุงน้ำหรือเนื้องอก ฟันคุดที่ทิ้งไว้นานไปเนื้อเยื่อที่หุ้มรอบฟันคุด อาจจะขยายใหญ่ขึ้นกลายเป็นถุงน้ำ แล้วโตขึ้นโดยไม่แสดงอาการเลย จนในที่สุดเกิดการทำลายฟันซี่ข้างเคียง และกระดูกรอบ ๆ บริเวณนั้น
  4. ป้องกันการละลายตัวของกระดูกรอบๆรากฟันหรือรากฟันของซี่ข้างเคียง ที่เกิดจากการปล่อยให้มีการอักเสบของเนื้อเยื่อเหงือกมานาน
  5. ผ่าฟันคุดเพื่อจุดประสงค์อื่นๆ เช่น การจัดฟันหรือใส่ฟันปลอม เพื่อให้ง่ายต่อการเคลื่อนฟันซี่อื่น ๆ หรือในกรณีที่ต้องใส่ฟันปลอม
  6. ป้องกันการอักเสบของเหงือกที่ปกคลุมฟัน เพราะจะมีเศษอาหารเข้าไปติดอยู่ใต้เหงือก แล้วไม่สามารถทำความสะอาดได้ 

     ดังนั้น เมื่อพบว่ามีฟันคุดแล้ว ควรที่จะผ่าออกเสียแต่เนิ่นๆ เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดดังที่กล่าวมาข้างต้นได้ และการผ่าฟันคุดในช่วงที่อายุยังน้อย (18 – 25 ปี) สามารถทำได้ง่าย แผลหายเร็วและผลแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดก็ต่ำอีกด้วย